ธนาคารกรุงไทย มีสาขาทำการทั่วประเทศ 1,120 สาขา มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตวัฒนา มีสถานะเป็นธนาคารที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจเพียงแห่งเดียวภายใต้สังกัดกระทรงการคลัง ในปี พ.ศ. 2559 ธนาคารกรุงไทยได้รับเลือกให้เป็น “ผู้ให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดในประเทศไทย ประจำปี 2559” โดยนิตยสาร Global Finance จากการวิเคราะห์ของผู้บริหารองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยอ้างอิงจากปัจจัยในหลายๆ ด้าน ได้แก่ ปริมาณธุรกรรม ขนาดพื้นที่ให้บริการ คุณภาพในงานบริการลูกค้า และการใช้นวัตกรรมใหม่ ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2560 กรุงไทยมีสาขาในประเทศมากที่สุดของธนาคารไทย 1,210 สาขา

ธนาคารกรุงไทย จำกัด ถือกำเนิดในวันที่ 14 มีนาคม 2509 เกิดจากการควบรวมกิจการของธนาคารสองแห่ง คือ “ธนาคารเกษตร” และ ”ธนาคารมอนตัน” โดยใช้ภาพโลโก้เป็น “นกวายุภักษ์” เป็นเทพที่อยู่ในป่าหิมพานต์ แบบเดียวกับที่ทางกระทรวงการคลังใช้ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2532 ธนาคารกรุงไทยได้แปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยมีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด จำนวน 6,184 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 55.31 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

นอกเหนือจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธนาคารพาณิชย์แล้ว ธนาคารกรุงไทยยังเป็นช่องทางในการให้บริการทางการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการของภาครัฐ เช่น สินเชื่อหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), สินเชื่อคอมพิวเตอร์ ICT และสินเชื่อเพื่อการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารได้รับความนิยมโดยหน่วยงานของรัฐในการเบิกจ่าย ตัวอย่างเช่น กรมสรรพากรออกเงินภาษีคืนผ่านเช็คกรุงไทย หรือจัดการการเบิกจ่ายเงินกองทุนรัฐบาล เช่น การจ่ายเงินบำนาญ

ประวัติก่อนจะมาเป็นธนาคารกรุงไทย

หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ประกาศจุดยืนในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธ์มิตร ทำให้ธนาคารต่างชาติหลายแห่งต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงต้องการที่จะจัดตั้งธนาคารแห่งใหม่ขึ้นมา จึงมีการจัดตั้ง “ธนาคารไทย จำกัด” ขึ้นมาในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2485 เพื่อมาทดแทนธนาคารของชาวต่างชาติ ในระหว่างนี้ธนาคารมีบทบาทอย่างมากในการค้ำจุนเศรษฐกิจไทยไม่ให้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ต่อมาในภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อของธนาคารใหม่เป็น “ธนาคารมณฑล จำกัด”

ธนาคารมณฑล จดทะเบียนด้วยเงินทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด ตามด้วยบริษัทข้าวไทย ทำให้ธนาคารแห่งนี้มีผู้ถือหุ้นคือรัฐบาล 95% ส่วนพนักงานก็เป็นพนักงานเก่าที่เคยทำงานในธนาคารต่างชาติที่ได้ปิดการไป ในปี พ.ศ. 2490 ได้มีการทำรัฐประหารขึ้น ธนาคารมณฑลรัฐตกเป็นเครื่องมือเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ธนาคารเริ่มทรุดตัวลงอย่างหนัก ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2494 ธนาคารได้กลับมาอยู่ในการดูแลของจอมพล ป. อีกครั้งหนึ่ง หลังจากสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มสงบลง ทางกระทรวงการคลังก็เริ่มอัดเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม 30 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลาย แต่ดูเหมือนว่ามันไม่เกิดผลอะไรมากนัก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะรวมกิจการของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน คือ ธนาคารเกษตร และ ธนาคารมณฑล

ตามที่อดีตรัฐมนตรีกระทรงการคลังในสมัยนั้นมีแนวคิดว่า ธนาคารของรัฐควรจะมีอยู่เพียงแค่หนึ่งเดียว ซึ่งประกอบกับทางรัฐบาลได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้งสองธนาคาร จึงได้ควบรวมกิจการทั้งเพื่อตั้งเป็น “ธนาคารกรุงไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 โดยสำนักงานใหญ่ของธนาคารตั้งอยู่ที่ริมถนนเยาวราช ซึ่งเป็นอาคารเก่าของธนาคารเกษตร

เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ของอาคารเริ่มคับแคบลงมาก จนไม่อาจที่จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจการได้ดีดั่งเดิม สาเหตุมาจากขนาดของกิจการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่เขตคลองเตย ส่วนอาคารเก่าที่อยู่เยาวราชยังคงถูกใช้ในเป็นสาขาย่อย อีกทั้งยังปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในอาคารให้เป็นห้องจัดแสดงศิลปะที่แบ่งออกเป็น 4 ชั้น โดยเปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับให้ศิลปินนำผลงานมาจัดแสดงได้ฟรี