เพื่อนๆ เคยสงสัยเรื่องประวัติความเป็นมาของเงินไทยกันไหม ว่าเมื่อก่อนนั้นเงินไทยมีที่มาที่ไปอย่างไรและมีแบบไหนบ้าง กว่าจะมาเป็นเหรียญและธนบัตรในปัจจุบันเราไปดูกันดีกว่าว่าเงินไทยมีความเป็นมาอย่างไร
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์องค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปเงินตราไทยจากที่เคยใช้เงินพดด้วงหรือเงินกลม ที่มีการใช้มาแต่โบราณกาลนั้น ให้เปลี่ยนเป็นการมาใช้เป็นเงินเหรียญหรือเงินแบน แบบประเทศทางตะวันตกแทน พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประเทศไทยนั้นใช้เงินเหรียญนอกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2399 ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.2400 และได้ทำการประกาศพิกัดเงินเหรียญนอกเมื่อปี พ.ศ.2407 จนถึงปี พ.ศ.2445 นั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการยกเลิกการใช้เหรียญนอกไป
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงสั่งทำเครื่องทำเหรียญกษาปณ์จากอังกฤษมาผลิตเหรียญกษาปณ์ในประเทศไทย ติดตั้งเครื่องใช้งานได้เมื่อปี พ.ศ.2403 และทรงพระราชทานชื่อว่า โรงกษาปณ์ สิทธิการตั้งอยู่หน้าพระคลังมหาสมบัติตรงมุมถนนออกประตูสุวภาพบริบาลด้านตะวันออก ได้ผลิตเหรียญบาท เหรียญสองสลึง เหรียญสลึง และเหรียญเฟื้อง แต่ในช่วงเวลานั้นก็ผลิตได้น้อยไม่พอแก่ความต้องการ เงินเหรียญนั้น หน้าหนึ่งมีตรารูปพระมหาพิไชยมงกุฎอยู่กลาง มีฉัตรกระหนาบอยู่สองข้าง มีกิ่งไม้เป็นเปลวแทรก อยู่ในท้องลาย อีกหน้าหนึ่งเป็นรูปกรงจักร กลางใจจักรนั้นมีรูปช้างประจำแผ่นดิน รอบวงจักรชั้นนอกเหรียญบาทนั้นมีดาวอยู่ 8 ทิศ แดวงว่า 8 เฟื้อง เหรียญสองสลึงมีดาวอยู่4ทิศ แสดงว่า 4 เฟื้อง และเหรียญเฟื้องนั้นจะมีดาวอยู่ด้านบนดวงเดียว นอกจากนี้ยังมีเหรียญที่ไม่ได้นำออกมาใช้ คือ หนึ่งตำลึง กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง ตามแจ้งความกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อปี พ.ศ. 2438 นั้น พบว่ามีเหรียญตรามงกุฎดังกล่าวให้แลกอยู่ 6 ราคาด้วยกัน คือ ราคา 2 บาท 1 บาท 2 สลึง 1 สลึง 1 เฟื้อง และ 2 ไพ
เมื่อปี พ.ศ. 2405 นั้น ได้มีประกาศให้มีการใช้กะแปะอัฐ และโสฬส ขึ้นใหม่ ด้วยว่าสมัยโบราณไทย และลาวใช้หอยชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าเบี้ย ใช้แทนเงินปลีก โดยจะคิดอัตรา 800 เบี้ย / 1 เฟื้อง สำหรับ กะแบะอัฐ และ โสฬส นั้น เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนขอรับเงินจากคลังมหาสมบัติ กำหนดอัตราไว้ 8 อัฐ / เฟื้อง และ 16 โสฬส / เฟื้อง โดยที่จะไม่ลดหย่อนแม้เนื้อโลหะที่ทำจะสึกกร่อยไปเพราะการใช้งาน แต่ถ้าเนื้อโลหะขาดบิ่น มูลค่านั้นก็จะลดลงตามน้ำหนักที่หายไป
สำหรับเหรียญทองชิ้นแรกนั้น สร้างจากโรงกษาปณ์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประทับตราจักรทุกมุม น้ำหนัก 20 บาท ทำด้วยทองคำเนื้อดี ตามมูลค่าทองคำหนัง 1 บาท เท่ากับเงิน 16 บาท เหรียญนั้นจึงมีมูลค่า 320 บาท
เหรียญทองแปทศ ทองแปพิศ และทองแปพัดดึงส์ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2406 ทำด้วยทองคำเนื้อแปดเศษสอง มี 3 ขนาดด้วยกัน ราคา 8บาท 4บาท และ 10 สลึง เรียกว่าทศ ซึ่งแปลว่า 10 แป เป็นเงิน 1ชั่ง พิศ แปลว่า 20 แป เป็นเงิน 1 ชั่ง และ พัดดึงส์ แปลว่า 32 แป เป็นเงิน 1 ชั่ง
นอกจากนั้นยังมี เบี้ยซีก เบี้ยเสี้ยว ที่สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2408 ทำด้วยทองแดง ที่มีตราเหมือนเบี้ยอัฐ และเบี้ยโสฬสอย่างใหญ่จะเรียกว่า ซีก มีค่า 2 อัน / 1 เฟื้อง อีกชนิดมีขนาดเล็กเรียกว่าเสี้ยว มีค่า 4 อัน / 1 เฟื้อง นอกจากนี้ยังมี เบี้ยก่อนหน้านั้นที่ทำด้วยดีบุกและทองแดง ใช้แทนเบี้ยหอยอีก เรียกกันว่า เบี้ยโพล้ง เบี้ยแก้ เบี้ยจั่น เบี้ยนาง เบี้ยหมู เบี้ยพองลม เบี้ยบัว เบี้ยตุ้ม จะเห็นได้ว่า กว่าจะพัฒนามาเป็นธนบัตรและเหรียญที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่ง่ายเลย นี้แหละความเป็นมาของเงินไทย